วิทยาการเข้ารหัส (Cryptography)

  เป็นกระบวนการสำหรับการแปรรูปข้อมูลเล็กทรอนิกส์ธรรมดาให้อยู่ในรูปที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถอ่านเข้าใจได้ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการเข้ารหัสจะกระทำก่อนการจัดเก็บข้อมูลหรือก่อนการส่งข้อมูล โดยการนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ธรรมดากับกุญแจ (Key) ซึ่งเป็นตัวเลข มาผ่านกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ผลที่ได้ก็คือข้อมูลที่เข้ารหัส ขั้นตอนที่กล่าวมานี้จะเรียกว่า “การเข้ารหัสลับ”(Encryption) และเมื่อต้องการอ่านข้อมูลจะนำเอาข้อมูลที่เข้ารหัสกับกุญแจมาผ่านเข้าสู่กระบวนการทางคณิตศาสตร์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือข้อมูลดั้งเดิม ซึ่งขั้นตอนนี้จะเรียกว่า “การถอดรหัสลับ” (Decryption) โดยทั่วไปเทคโนโลยีระบบรหัสแบ่งได้เป็น2ประเภทหลักได้แก่ระบบรหัสแบบสมมาตร(Symmetric Key Cryptography)และระบบรหัสแบบอสมมาตร(Asymmetric Key Cryptography) ระบบรหัสแบบสมมาตร (Symmetric-key Cryptography) เป็นระบบรหัสที่ใช้กุญแจชุดเดียวกันทั้งผู้ส่งและผู้รับในการเข้าและถอดรหัสลับ จากสาเหตุนี้จึงเป็นที่มาของชื่อระบบรหัสแบบสมมาตร เนื่องจากคำว่า “สมมาตร” เป็นการอธิบายถึงความเท่ากันหรือเหมือนกันของสองข้าง ซึ่งในที่นี้ก็คือตัวกุญแจนั่นเอง กุญแจซึ่งอยู่ในรูปรหัสคอมพิวเตอร์นี้เป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเข้าและถอดรหัสลับข้อมูล ซึ่งขนาดของกุญแจ (มีหน่วยเป็นบิต : bit) จะแสดงถึงระดับความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้รับการเข้ารหัสลับ โดยการใช้กุญแจที่มีความยาวหรือจำนวนบิตสูง จะทำให้การเข้ารหัสลับข้อมูลนั้นมี ความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ระบบรหัสแบบอสมมาตร (Asymmetric-key Cryptography) เป็นระบบรหัสที่ใช้กุญแจคู่ (Key Pair) ซึ่งประกอบด้วยกุญแจส่วนตัว (Private Key) และกุญแจสาธารณะ (Public Key) กล่าวคือ ผู้ใช้ 1 คนหรือที่เรียกว่าเจ้าของกุญแจจะใช้กุญแจคู่นี้ในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นโดยไม่จำเป็นต้องมีกุญแจเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับกรณีของระบบรหัสแบบสมมาตร ทั้งนี้ในการเก็บรักษากุญแจนั้น กุญแจส่วนตัวจะต้องเก็บรักษาไว้กับเจ้าของกุญแจและห้ามไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ ส่วนกุญแจสาธารณะนั้นต้องมีการประกาศให้ผู้อื่นรับรู้หรือเก็บไว้ในที่ซึ่งบุคคลอื่นสามารถเข้ามาสืบค้นได้ ในการเข้ารหัสลับข้อมูลจะต้องใช้กุญแจดอกหนึ่งในการเข้ารหัสลับและใช้กุญแจอีกดอกหนึ่งที่เป็นคู่กันในการถอดรหัสลับ เช่น หากใช้กุญแจสาธารณะในการเข้ารหัสลับก็จะต้องใช้กุญแจส่วนตัวในการถอดรหัสลับ ในทางกลับกัน หากใช้กุญแจส่วนตัวในการเข้ารหัสลับก็จะต้องใช้กุญแจสาธารณะในการถอดรหัสลับ ซึ่งวิธีการเลือกใช้กุญแจจะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น นำไปใช้ในการเข้ารหัสลับ (Encryption) เพื่อรักษาความลับของข้อมูลดังรูปที่ 2 หรือใช้งานในลักษณะลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ระบบรหัสแบบอสมมาตรสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้ 2 ลักษณะ ดังนี้ การเข้า/ถอดรหัสลับ เพื่อรักษาความลับของข้อมูล (Encryption) การใช้งานระบบรหัสแบบอสมมาตรสำหรับการเข้า/ถอดรหัสลับเพื่อรักษาความลับของข้อมูลนั้น จะใช้ในกรณีผู้ส่งต้องการส่งข้อความที่เป็นความลับเพื่อให้ผู้รับเท่านั้นที่อ่านเข้าใจได้ โดยผู้ส่งจะใช้กุญแจสาธารณะของผู้รับในการเข้ารหัสลับ (Encryption) กับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผลที่ได้คือ ข้อมูลที่เข้ารหัสลับจะถูกส่งไปยังผู้รับโดยผู้รับจะใช้กุญแจส่วนตัวของตนในการถอดรหัสลับ (Decryption) เพื่อให้อ่านข้อมูลดังกล่าวได้ ข้อสังเกต คือ ผู้รับเท่านั้นที่รู้กุญแจส่วนตัวของตน นั่นคือ ผู้รับจะเป็นเพียงผู้เดียวที่สามารถถอดรหัสลับและอ่านข้อมูลได้ การใช้งานในลักษณะลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ลายมือชื่อดิจิทัลเป็นข้อมูลในรูปอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นโดยใช้สมการทางคณิตศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวผู้ส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น ทั้งนี้ การลงลายมือชื่อดิจิทัลจะก่อให้เกิดความปลอดภัยกับข้อมูลได้ 3 ประการ คือ การยืนยันตัวบุคคล (Authentication) ความครบถ้วนของข้อมูล (Data Integrity) และการห้ามปฏิเสธความรับผิด (Non-repudiation) การสร้างลายมือชื่อดิจิทัลนั้นจะนำข้อมูลที่ต้องการส่งมาผ่านกระบวนการย่อยข้อมูล (Hash Function) เพื่อให้มีขนาดเล็กลงและสามารถใช้แทนข้อมูลเดิม สิ่งที่ได้จากการย่อยข้อมูลเรียกว่า แมสเสจไดเจสต์ (Message Digest) จากนั้นจะนำกุญแจส่วนตัวของผู้ส่งและแมสเสจไดเจสต์มาผ่านกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ผลลัพธ์ที่ได้จะกลายเป็นลายมือชื่อดิจิทัล ซึ่งส่งไปให้ผู้รับพร้อมกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ข้อสังเกตคือ การใช้กุญแจส่วนตัวของผู้ส่งสร้างลายมือชื่อดิจิทัลเป็นการยืนยันได้ว่ามาจากผู้ส่งเนื่องจากผู้ส่งคนเดียวเท่านั้นที่มีหรือรู้ถึงกุญแจส่วนตัว ในการตรวจสอบลายมือชื่อดิจิทัล ผู้รับจะนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาผ่านขั้นตอนการย่อยแบบเดียวกับที่ผู้ส่งใช้เพื่อสร้างแมสเสจไดเจสต์และนำกุญแจสาธารณะของผู้ส่งมาทำการถอดรหัสลับ (ตรวจสอบ) กับลายมือชื่อดิจิทัลที่แนบมากับข้อมูล จากนั้นนำผลลัพธ์ (แมสเสจไดเจสต์) ที่ได้จากกระบวนการทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน หากเหมือนกันทุกประการ นั่นหมายความว่าข้อมูลที่ส่งมาเป็นข้อมูลที่ถูกส่งมาจากผู้ที่อ้างถึงจริง และไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขใดๆ

Nature

วิธีการเข้ารหัสแบบ Caesar cipher

Contact